การจำแนกกล้วยไม้
เนื่องจากกล้วยไม้มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นอย่างน้อย จนทำให้เป็นที่รู้จักได้ง่ายในระดับวงศ์ (Family) แต่มีการวิวัฒนาการไปหลายทิศทาง ทำให้มีความหลากหลายภายในวงศ์สูง จำนวนสกุลและชนิดมีมากมาย และมีการจัดจำแนกได้หลายระบบ
1. จำแนกตามที่พบในธรรมชาติ โดยในธรรมชาติอาจจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กล้วยไม้อิงอาศัย (Epiphytic Orchid) กับ กล้วยไม้ดิน (Terrestrial Orchid)
กล้วยไม้อิงอาศัย มีจำนวนมากมักจะพบเห็นได้ค่อนข้างมากและทั่วๆ ไป กล้วยไม้ประเภทนี้ใช้รากยึดเกาะกับเปลือกไม้ โดยไม่ได้ทำการเบียดเบียนอาหารจากต้นไม้ หลายชนิดสามารถเติบโตได้บนโขดหินหรือหน้าผาได้ด้วย
กล้วยไม้ดิน เป็นกลุ่มที่ขึ้นตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีซากพืชที่สลายตัวผุพังแทรกอยู่ โดยมากพวกกล้วยไม้ดินมักจะมีการเจริญเติบโตเป็นฤดูกาลและอาจจะมีหัวเทียม(Pseudobulb) หรือเหง้า (Rhizome) หรือส่วนที่สะสมอาหารใต้ดิน ซึ่งอาจจะเป็นส่วนของต้นหรือราก มีช่วงของการมีใบ ดอก และฝัก เฉพาะฤดูกาลเท่านั้น จัดเป็นพวกไม้ล้มลุกหลายฤดูกาล ดังนั้นจึงพบเห็นได้น้อยกว่าพวกเจริญเติบโตอิงอาศัย นอกจากนี้เจริญเติบโตที่พบตามพื้นดินยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีการสร้างใบหรือต้นที่มีสีเขียว ไม่สามารถสร้างอาหารจากการสังเคราะห์แสง แต่ได้อาหารจากการย่อยสลายซากพืช เรียกว่า กล้วยไม้กินซาก (Saprophytic Orchid) พบได้ตามป่าดิบชื้นเป็นครั้งคราว

Image by: หนังสือกล้วยไม้เมืองไทย ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน
2. การจำแนกตามลักษณะการเจริญเติบโต กล้วยไม้พบได้ในถิ่นอาศัยแบบต่างๆ ตั้งแต่บริเวณที่มีน้ำแข็งปกคลุมเกือบตลอดปีไปจนถึงเขตร้อนในป่าทุกประเภท ในเขตหนาวและเขตอบอุ่นมักจะพบกล้วยไม้ประเภทที่ขึ้นตามพื้นดินที่มีการเจริญเติบโตให้เห็นเฉพาะฤดูกาล แต่ในเขตร้อนจะพบกล้วยไม้ที่ดำรงชีวิตอยู่หลากหลายรูปแบบตั้งแต่กล้วยไม้ดิน กล้วยไม้อิงอาศัย และกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตอาศัยซากอินทรียวัตถุ โดยทั่วไปกล้วยไม้มีการเติบโตเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวคือ ไม่มีการขยายเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่โตเต็มวัยได้อีก แต่อาจมีการยืดบริเวณโคนป้องให้ต้นสูงขึ้นได้ ต้นกล้วยไม้จึงมีการเติบโตได้ 2 ลักษณะคือ
2.1 การเติบโตแบบฐานร่วม หรือ แบบแตกกอ (Sympodium) ซึ่งกล้วยไม้ส่วนใหญ่มีการเติบโตแบบแตกกอ โดยยอดแต่ละยอดมีความสูงที่จำกัด ยอดเกิดใหม่เกิดจากตาที่ข้างส่วนใดส่วนหนึ่งของยอดเก่า เช่น รองเท้านารี หวาย แคทลียา ออนซิเดียม
2.2 การเติบโตแบบฐานเดี่ยว หรือยอดเดี่ยว (Monopodium) โดยที่แต่ละยอดจะสามารถเติบโตด้านความสูงอย่างไม่จำกัด แต่เมื่อมีการเติบโตได้ช่วงหนึ่ง อาจมีหน่อใหม่เกิดขึ้นที่บริเวณโคนต้น และจะมีช่อดอกเกิดจากตาข้างบริเวณลำต้นเท่านั้น เช่น แวนด้า เข็ม ฟาแลนนอปซิส

|

|
แบบแตกกอ (Sympodium) |
แบบยอดเดี่ยว (Monopodium) |
3. การจำแนกกล้วยไม้ทางวิชาการ เนื่องจากพืชวงศ์กล้วยไม้มีความหลากหลายและมีจำนวนชนิดมาก ได้มีนักพฤกษศาสตร์หลายท่านจำแนกวงศ์กล้วยไม้ออกเป็นวงศ์ย่อย (Subfamily) ในระบบต่างๆ กัน ตามระบบของ R.L.Dressler (1981 1990) ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 6 วงศ์ย่อย
3.1 Apostasioideae (อะโพสตาสิออยดิอี) กล้วยไม้วงศ์ย่อยนี้เป็นพวกกล้วยไม้ดิน มีลักษณะค่อนข้างต่างจากกล้วยไม้อื่นๆ คือ ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายกัน ไม่มีกลีบปากที่แตกต่างจากกลีบอื่น เกสรเพศผู้มีจำนวน 3 หรือ 2 อัน เรณูเป็นผง นอกจากนี้ยอดเกสรเพศเมียมีก้านชูและภายรังไข่ยังแยกเป็น 3 ช่อง ซึ่งต่างจากวงศ์ย่อยอื่นๆ ที่มีเกสรเพศผู้ 1-2 อัน และภายในรังไข่มี 1 ช่อง
3.2 Cypripedioideae (คิพรีพีดิออยดิอี) ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ดิน ได้แก่ กล้วยไม้พวกรองเท้านารี มีลักษณะเด่นคือ กลีบเลี้ยงด้านข้างเชื่อมติดกันเป็นอันเดียว กลีบปากเป็นถุงคล้ายหัวรองเท้าสตรี และมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม่ดินที่มีอายุนานหลายปี และไม่ทิ้งใบ
3.3 Neottioideae (นีออททิออยดิอี) ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ดิน มีเหง้าทอดไปตามผิวดินหรือใต้ดิน หรือมีรากสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน ใบบาง เกสรเพศผู้มี 1 อัน ผนังฝาปิดอับเรณูไม่หลุดร่วง กลุ่มละอองเรณูประกอบด้วยกลุ่มละอองเรณูย่อยจับเป็นก้อนมีลักษณะอ่อน ยึดติดกับแผ่นเยื่อเหนียวๆ และจะงอยของยอดเกสรเพศเมียมักจะยืดตัวยาว
3.4 Orchidioideae (ออร์คิดอยดิอี) มีลักษณะใกล้เคียงกับวงศ์ย่อย Neottioideae แต่กลุ่มละอองเรณูมีก้านไปยึดติดกับแผ่นเยื่อบางๆ ส่วนปลายของจะงอยยอดเกสรเพศเมีย มักจะยึดตัวอยู่ระหว่างอับเรณู
3.5 Epidendroideae (เอพิเดนดรอยดิอี) เป็นกลุ่มกล้วยไม้ที่มีลักษณะของต้นและใบหลากหลายแบบ มีเกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูส่วนบนจะแยกออกเป็นฝาปิด และร่วงหลุดไปเมื่อเจริญเต็มที่ ละอองเรณูจับเป็นก้อนแน่น แต่ไม่แข็ง ส่าวนใหญ่กลุ่มละอองเรณูไม่มีก้าน กล้วยไม้ในวงศ์ย่อยนี้มีทั้งกล้วยไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ดิน
3.6 Vandoideae (แวนดอยดิอี) เป็นกลุ่มที่มีลักษณะต้น ใบ และจำนวนเกสรเพศผู้คล้ายวงศ์ Epidendroideae แต่กลุ่มละอองเรณูค่อนข้างเหนียวหรือแข็ง อยู่เป็นชุดกลุ่มละอองเรณู มีก้านและมีแป้นยึดก้าน ส่วนใหญ่เป็นกล้วยอิงอาศัยมากกว่าที่เป็น กล้วยไม้ดิน